7 ตัวการที่ทำให้สาว ๆ น้ำหนักขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ !


              น้ำหนักตัวพุ่งสูงขึ้นอาจไม่ได้เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของเราเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะค่ะ เพราะเบื้องหลังน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา อาจเป็นเพราะเหตุผลเหล่านี้ก็เป็นได้

              เรื่องน้ำหนักตัวของสาว ๆ และรูปร่างทรวดทรงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน จนถึงขั้นทำให้คำว่าอ้วนกลายเป็นคำที่ระคายหูอย่างแรงเลยล่ะเนอะ แต่สาว ๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่า นอกจากพฤติกรรมการกินตามใจปากบ่อย ๆ แล้ว ยังมีเหตุผลซ่อนเร้นอะไรอีกไหมที่ทำให้น้ำหนักตัวของเราพุ่งสูงจนเกินจะยับยั้งได้ไหว ซึ่งหากอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของความอ้วน และปัญหาน้ำหนักตัวเกินของคุณผู้หญิง ก็บอกได้ตรงนี้เลยค่ะว่า 7 เหตุผลพาอ้วนเหล่านี้แหละ ผู้ร้ายที่ต้องจับตามอง !
         1. ผลข้างเคียงจากยาคลายเครียด

              หากคุณตกอยู่ในสภาวะเครียดจนต้องกินยากล่อมประสาท หรือต้องกินยาคลายเครียดเป็นประจำ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาเหล่านี้ ซึ่งผลของยาอาจทำให้คุณมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2-6 กิโลกรัมต่อปี (แล้วแต่บุคคล) อีกทั้งผลข้างเคียงจากยายังอาจโน้มน้าวให้คุณรู้สึกอยากกินอาหารไขมันสูง นม เนย และของหวาน ๆ เป็นประจำอีกด้วย

              ฉะนั้นหากลดปริมาณยา หรือเลิกกินยาคลายเครียดไม่ได้ อาจจะต้องหันมาออกกำลังกายและดูแลโภชนาการของตัวเองให้ดีควบคู่กันไปด้วย

         2. รักษาโรคด้วยยาที่ไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของตัวเอง

              ยาคุมกำเนิดที่มีระดับฮอร์โมนเกินความจำเป็นต่อความต้องการของร่างกาย ยารักษาโรคหัวใจและความดันโลหิต ยาต้านชัก ยารักษามะเร็งเต้านม เช่น ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) รวมทั้งการรักษาบางอย่างของโรคไขข้ออักเสบ หรือแม้แต่ยารักษาไมเกรนบางชนิด ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำหนักตัวของสาว ๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหากแพทย์สั่งจ่ายยาที่ไม่ตรงกับสเปคที่ร่างกายคุณต้องการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้คุณอ้วนขึ้น แม้จะกินอาหารในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม

              ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าหลังจากกินยามาสักพักแล้วน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษา เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่ส่งผลข้างเคียงกับคุณน้อยที่สุดแทน

         3. ระบบย่อยอาหารที่แปรปรวน

              พอมาถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสงสัยแล้วล่ะว่า ระบบย่อยอาหารจะเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของเรายังไง อธิบายได้ง่าย ๆ ตามนี้เลยค่ะว่า โดยปกติแล้วระบบการย่อยอาหารของเราจะเริ่มทำงานหลังจากที่กินอาหารเข้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง หรือช้ากว่านั้นนิดหน่อย แต่เมื่อไรที่ระบบย่อยอาหารของคุณเกิดปัญหา โดยเฉพาะในส่วนการทำงานของลำไส้ที่ค่อนข้างช้ากว่าปกติ ก็จะทำให้อาหารที่เรากินเข้าไปตกค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าคนอื่น ๆ (ที่มีระบบย่อยอาหารปกติดี) ทีนี้ระบบย่อยอาหารและการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ก็จะปรวนแปรไปด้วย

              แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันปัญหาระบบย่อยอาหารและการทำงานของลำไส้ที่ล่าช้าได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ กินผักผลไม้เป็นประจำ รวมทั้งออกกำลังกายปรับสมดุลการทำงานของร่างกายให้ลื่นไหลไปด้วย

         4. โภชนาการที่บกพร่องของร่างกาย

              สาว ๆ ที่ควบคุมอาหารอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูแลโภชนาการของตัวเองควบคู่กันไปด้วย ก็มีแนวโน้มน้ำหนักขึ้นทั้ง ๆ ที่ควบคุมอาหารอยู่นี่ล่ะค่ะ เพราะหากร่างกายขาดวิตามินดี แมกนีเซียม และธาตุเหล็กแล้วล่ะก็ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงระบบเผาผลาญคงทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าไร ดังนั้นต่อให้ออกกำลังกายอย่างหนัก ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ก็เป็นไปได้ว่าน้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือดีที่สุดก็คงที่เท่าเดิม ไม่ลดไม่เพิ่มไปไหน ซึ่งก็เท่ากับว่าเราเหนื่อยฟรีจริงไหมล่ะ

              ฉะนั้นสาว ๆ อย่าลืมกินเนื้อสัตว์ อัลมอนด์ ถั่ว ผักใบเขียว อาหารทะเล และธาตุเหล็ก เพื่อเสริมสารอาหารให้ร่างกายอย่างครบถ้วน พร้อมกันนั้นก็พยายามออกมารับแสงแดดยามเช้าตรู่ เพิ่มวิตามินดีให้ร่างกายด้วยนะจ๊ะ

         5. อายุมากขึ้น

              แก่ขึ้นแล้วประสิทธิภาพของร่างกายก็ลดลงเป็นธรรมดาของโลกนะคะ อย่างน้อยที่สุดระบบเผาผลาญก็ทำงานได้ช้าลง แถมไม่เก๋าเท่าตอนสาว ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งเดียวที่เราทำได้คือพยายามควบคุมอาหาร และออกกำลังกายฟิตหุ่น บำรุงสุขภาพไปพร้อม ๆ กัน

         6. มีปัญหาโรคข้อและกระดูก

              สาวคนไหนที่เริ่มส่ออาการโรคข้อเข่า ข้อต่อ และเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก โดยเฉพาะโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบต้องรีบหาทางรักษาโดยด่วนแล้วนะจ๊ะ เนื่องจากอาการของโรคเหล่านี้เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่ทำให้คุณเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยกว่าปกติ ฉะนั้นหากไม่อยากนั่ง ๆ นอน ๆ จนอ้วนตุ้ย หรือหมดโอกาสออกกำลังกายฟิตหุ่นสุดเป๊ะ ก็ต้องลุกขึ้นมาสู้กับโรคข้อและกระดูกเหล่านี้กันหน่อยแล้ว

         7. ตกอยู่ในสภาวะผู้ป่วยโรคคุชชิ่ง

              โรคคุชชิ่ง หรือคุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing’s Syndrome) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย โดยที่ร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้น้ำหนักเกิน เห็นได้ชัดจากส่วนหน้าท้อง มีใบหน้ากลมเหมือนพระจันทร์ มีไขมันสะสมในบริเวณหลังส่วนบน และเหนือไหปลาร้า รวมทั้งอาจทำให้สีผิวเปลี่ยน เป็นโรคกระดูกพรุน และมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย


              เหตุผลทั้ง 7 ข้อที่ซ่อนอยู่ภายใต้น้ำหนักที่พุ่งสูงขึ้นของคุณสาว ๆ ดูจะไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรปล่อยผ่านไปซะทีเดียวแล้วนะคะ เพราะบางเหตุผลนั้นหมายถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย รวมทั้งส่งสัญญาณของโรคต่าง ๆ เตือนให้เราได้รู้ตัวกันตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกด้วย ฉะนั้นหากคุณสังเกตได้ว่าช่วงนี้น้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้กินเก่งมากกว่าที่เคย อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เราอ้วนขึ้นโดยด่วนแล้วล่ะ


    ขอบคุณบทความดีๆเกี่ยวกับการลดความอ้วนจาก kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

Speak Your Mind

Powered By Blogger · Designed By Seo Blogger Templates